มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (2)

DIY คุณทำได้ นำเสนอผลงานการประยุกต์ใช้เหล็กฉาก ผลงานดีๆ จากทางบ้าน ครั้งนี้ขอแนะนำผลงานของ…
คุณ pa_ul แห่ง ห้องชายคา www.pantip.com
Link: http://topicstock.pantip.com/home/topicstock/2008/09/R6967193/R6967193.html
ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

#### มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (2) ####

ต่อนะครับ เรื่องสกรูน๊อต แล้วก็ความหนาเหล็กนี่มันไปเกี่ยวยังไงกับความแข็งแรงไม่โยกเยกได้ยังไงกัน ???

คืออย่างนี้ครับ ในทางวิศวกรรมแล้ว โครงสร้างที่ Rigid (รู้สึกภาษาไทยแปลว่าแกร่ง ไม่โยกเยก ถ้าไม่ใช่ขอโทษนะครับ) ต้องเป็นสามเหลี่ยมมีสามด้านครับ ถ้ามีเกินสามด้านเมื่อไหร่มันจะโยกได้ง่ายครับ ตัวอย่างเช่นโครงสะพานเหล็ก อย่างสะพานพุทธฯ สะพานพระรามหก หรือโครงหลังคาที่เรียกว่าโครงทรัสต์ นั่นแหละครับ ดูดีๆ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนเป็นสี่เหลี่ยม ทุกช่องจะถูกออกแบบเป็นสามเหลี่ยมทั้งหมดครับ ทำให้มีความแข็งแรงครับ

แล้วไอ้ชั้นเหล็กราคาถูกๆ ที่เรากำลังล้อมวงทำกันอยู่นี่มันเป็นสี่เหลี่ยมใช่มั้ยครับ มันก็โยกง่ายสิครับ ก็ต้องแก้โดยการสร้างสามเหลี่ยมไปค้ำยันมันไม่ให้โยกครับ ทำได้ยังไงบ้าง…. ก็เช่นอาจจะเอาเหล็กมาเสริมทแยงด้านหลัง ด้านข้างก็ได้ครับ ถ้ามีเหล็กเหมาะๆ วิธีนี้ก็แจ๋วเลยครับ

อย่างในรูป ถ้าใส่เสริมตรงเส้นสีเขียว อย่างนี้ก็ใช้ได้เลยครับ แต่ปัญหาคือมันเปลืองเหล็ก ใครจะลองวิธีนี้ก็ได้นะครับ รับรองแข็งแรงแน่นหนา ไม่โยกเยกครับ

ทีนี้การใส่เหล็กฉากประกับเข้าไปนี่ก็คล้ายๆ กับการสร้างสามเหลียมขึ้นมาแหละครับ แต่เป็นสามเหลี่ยมเล็ก รับแรงได้ไม่มาก แต่ก็เพียงพอสำหรับชั้นวางของที่เรากำลังล้อมวงทำกันอยู่ครับ แต่เงื่อนไขคือตัวสกรูน๊อตที่ใช้ยึดนั้นต้องแน่หนานะครับ ถ้าสกรูในตำแหน่ง 1,2,3 ตัวใดตัวหนึ่งไม่แน่น โครงสร้างสามเหลี่ยมที่เราต้องการก็ไม่เกิดขึ้น ความแข็งแรงที่ต้องการก็ไม่เกิดขึ้นครับ

มาดูในรายละเอียดกันดีๆ นะครับ รูปนี้แสดงให้เห็นด้านในของบริเวณที่เราเพิ่มเหล็กประกับเข้าไปนะครับ จะเห็นว่าสกรูหมายเลข 1 กับสามจะยึดเหล็กฉากกับเหล็กประกับอย่างละ 1 ชั้นเข้าด้วยกัน ส่วนสกรูหมายเลข 2 จะมีชั้นเหล็กฉากเพิ่มเป็น 2 ชั้น

แล้วมาดูรายละเอียดที่สกรูที่ใช้กัน มันมีบ่าให้เพื่อให้ล๊อคเข้ากับร่องของเหล็กฉาก เพื่อที่เวลาขันจะได้อยู่กับที่ไม่หมุนตามแรงบิดไป ไอ้บ่าเหลี่ยมๆ นี่แหละครับ ที่เป็นตัวปัญหา ถ้าความหนาของบ่าน้อยกว่าความหนาของชิ้นงานที่เราเอามายึดติดกัน เราก็จะสามารถขันให้มันแน่นได้ แต่ถ้ามันหนามากกว่า เราขันยังไงมันก็ไม่แน่สิครับ สกรูกับน๊อตมันแน่น แต่ไม่ได้ช่วยยึดชิ้นงานของเราให้แน่นเลยครับ

ดูภาพด้านข้างที่ผมพยายามถ่ายให้ใกล้ที่สุดเท่าที่กล้องห่วยๆ ของผมทำได้นะครับ ในรูปผมใช้เหล็กฉากอย่างบาง แล้วก็เหล็กประกับอย่างบางมาประกอบให้เห็น จะเห็นว่ามีช่องว่างตรงที่ลูกศรชี้ครับ ส่วนสกรูตัวกลางไม่มีปัญหาครับ เพราะมีเหล็กฉากสองชั้น ก็เลยหนากว่าบ่าตัวสกรู ก็เท่ากับว่าสกรูสองตัวที่ว่านี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดความแข็งแรงของสามเหลี่ยมอย่างที่เราต้องการเลยสิครับ ถ้าเปลี่ยนเหล็กให้หนาขึ้น ให้มากกว่าความหนาของบ่าสกรู ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ครับ นี่เป็นเหตุผลที่ผมให้ซื้อเหล็กอย่างหนา ทั้งเหล็กฉากและเหล็กประกับครับ

ไอ้น๊อตกับสกรูที่ผมซื้อมาปรากฏว่ามีสองเวอร์ชั่นซะอีกครับ คือเวอร์ชั่นแรกบ่ามันหนาน้อยกว่าอีกเวอร์ชั่นนึงครับ ใช้กับเหล็กฉากหนาได้พอดีครับ แต่ใช้กับเหล็กฉากบางก็ยังหนาเกินไปครับ

ส่วนเวอร์ชั่นที่สองนอกจากจะมีบ่าหนากว่าแล้ว เกลียวบนตัวสกรูก็ยังทำมาสุดบ้าง ไม่สุดบ้าง เป็นที่อิดหนาระอาใจในการใช้งานมากครับ ถ้าเกลียวเข้าไปสุดจนชนบ่าก็ยังดี บางตัวเกลียวเข้าไม่สุด พอขันเข้าไปก็ไม่สุดสิครับ ก็ออกแรงเพิ่มจนเกลียวมันรูดล๊อคติดกัน กว่าจะเอาออกได้นี่ก็เหงื่อตก ตอนหลังก็เลยต้องสังเกตให้ดีก่อนเอามาใส่ ตัวที่เกลียวไม่สุดแยกเอาไปใส่เฉพาะตรงที่เป็นเหล็กฉากสองชั้นครับ

ตอนประกอบจริงคงไม่ต้องมานั่งเล็งให้ตาเหล่อย่างในภาพข้างบนเพื่อดูว่ามันแน่หรือไม่แน่นหรอกครับ ให้ทำอย่างนี้จะง่ายกว่าครับ คือขันน๊อตเข้าไปให้แค่พอชนก็หยุด แล้วลองจับมันขยับๆ ดูว่ามันคลอนๆ รึเปล่า ถ้าคลอนก็แสดงว่ามันชนบ่าสกรูซะแล้ว อย่างนี้ความหนาไม่ได้ครับ ออกแรงเพิ่มไปก็เสียเปล่า เผลอๆ เกลียวรูดไปก็ยุ่งเลยครับ แน่นก็ไม่แน่น ต้องหาทางเอามันออกอีก

แล้วถ้าเผื่อว่าบ่าสกรูมันหนากว่า ก็ยังพอมีทางแก้ครับ ให้หาซื้อแหวนอีแปะมารองให้มันพ้นความหนาของบ่าสกรูอย่างในรูปครับ ขนาดของแหวนอีแปะนั้นรูตรงกลางต้องใหญ่กว่าเส้นทแยงมุมของบ่าสกรูนะครับ ไม่งั้นตัวแหวนอีแปะมันก็จะชนบ่าครับ

มาถึงตรงนี้ก็คงทราบวิธีการทำให้มันแข็งแรงแน่นหนากันแล้วนะครับ ก็ลงมือลุยกันได้เลยครับ ใครจะต่อกว้างยาวลึกแค่ไหนก็ตามสะดวกเลยครับ ถ้าขนาดมันสูง แนะนำให้เสริมเหล็กประกับเข้าไปอีกครับ แทนที่จะใช้ด้านละสี่ตัว ก็อาจจะด้านละหกตัวก็ได้ครับ เพื่มเงินอีกนิดหน่อย แต่ได้ความแข็งแรงกลับมาอีกมากครับ

อย่างที่แนะไป ให้เริ่มประกอบด้านในให้มันตั้งขึ้นมาได้คร่าวๆ ก่อน ยังไม่ต้องกวดน๊อตให้แน่น ใช้ตัววัดระดับ วัดแนวดิ่งของแต่ละขา ขานึงให้วัดสองด้านที่ตั้งฉากกัน แล้วค่อยกวดน๊อตให้แน่น พอได้โครงแล้ว อย่าเพิ่งใส่เหล็กขวางที่เหลือทันที ให้ใช้ตลับเมตรวัดความกว้างด้านบน กับด้านล่างเทียบกับ มันควรจะใกล้เคียงกัน ถ้าไม่ได้ ก็คลายน๊อตมาขยับๆ หรือใช้ค้อนยาง หรือด้ามค้อนไม้ เคาะๆ แล้ววัดดิ่งใหม่ จนแน่ใจแล้วถึงค่อยใส่เหล็กที่เหลือเข้าไปตามตำแหน่งครับ

ผมเองใช้เครื่องทุ่นแรงนิดหน่อยอย่างในรูปครับ เห็นเส้นแสงสีแดงๆ มั้ยครับ ไม่ใช่ภาพเสียนะครับ เส้นแสงนั้นมาจากเครื่องดำๆ ที่เห็นข้างหน้าครับ เพื่ออ้างอิงแนวดิ่งครับ

รูปที่เห็นนี้เป็นบริเวณมุมซ้ายบน จะเห็นว่ามีเหล็กประกับเสริมทั้งด้านหน้า และด้านข้างครับ ลืมใส่สกรูไปตัวนึงครับ แต่ถึงไม่ใส่มันก็แข็งแรง ไม่โยกโย้ครับ

ถึงแม้ว่าจะทำอย่างแข็งแรงแล้วก็ตาม สำหรับคนที่คิดจะต่อชั้นที่สูงมาก เช่นสูงชนเพดาน เพื่อความไม่ประมาทแนะนำให้เจาะพุกยึดด้านบนเข้ากับกำแพง เพิ่มความปลอดภัยด้วยครับ เผื่อว่ามีเด็กๆ ไปปีนป่ายเล่น หรือปีนๆ เก็บของอยู่ แล้วพลาดไปโหนมัน จะได้ไม่ล้มลงมาครับ เหล็กฉากตั้งเส้นนึงยึดไว้ซักตัวสองตัวก็พอแล้วครับ

อีกอย่างนึงเพิ่งนึกได้ครับ ตอนที่ประกอบเหล็กประกับเข้าไป แล้วทดสอบดูว่าสกรูใช้งานได้หรือไม่อย่างที่บอกไปในคห. 28-33 นั้น บางทีตัวเหล็กประกับมันปั๊มมาแล้วมีขอบคมๆ ไปยันกับเหล็กฉากเอาไว้ พอขันน๊อตเข้าไปแล้ว…..ดูเหมือน……จะแน่น แต่มันไม่แน่นครับ ที่ผมทำผมลงทุนตะไบขอบที่คมๆ ทิ้งไปครับ ซึ่งนอกจากจะไม่โดนมันหลอกแล้ว เวลาเราเผลอไปโดนมันเข้าตอนที่เราหยิบของ ก็จะได้ไม่บาดเราเเป็นแผลครับ

จบแล้วครับ…

มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (1)

มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (1)

DIY คุณทำได้ นำเสนอผลงานการประยุกต์ใช้เหล็กฉาก ผลงานดีๆ จากทางบ้าน ครั้งนี้ขอแนะนำผลงานของ…
คุณ pa_ul แห่ง ห้องชายคา www.pantip.com
Link: http://topicstock.pantip.com/home/topicstock/2008/09/R6967193/R6967193.html
ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

#### มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (1) ####

เห็นมีหลายๆ ท่านในชายคานี้มาสาธิตการต่อชั้นเหล็กให้ดูชมแล้วนะครับ ดูแล้วง๊าย…..ง่ายนะครับ จะไปยากอะไร ก็แค่ไปสั่งตัดเหล็กให้ได้ตามขนาด แล้วก็ซื้อสกรูกับน๊อตกับเหล็กประกับมาพร้อมกัน แล้วก็ลงมือขันๆๆๆๆ ก็ได้ชั้นเหล็กมาใช้งานแล้ว ใช่มั้ยครับ

แล้วผมนี่จะมาแนะนำอะไรตรงนี้ดีหละครับ รู้ๆ กันอยู่หมดแล้ว แต่มีใครมั้ยครับ ที่ต่อชั้นจริงๆ แล้วปรากฎว่ามันโยกเยกไม่แข็งแรงครับ  ใครชนเข้าหน่อยมันก็โย้ไปเย้มา เราก็ว่าเราขันสกรูแน่นหนาจนแทบจะเอาไม่ออกแล้วนะ ทำไมมันโยกโย้เย้จังเลย บางคนก็อาศัยว่าวางของหนักๆ หน่อย ก็ทำให้…รู้สึก….แน่นหนาขึ้น แต่มันไม่ได้แน่นหนาจริงสิครับ เพียงแค่มันไม่พังครีนลงมาต่อหน้าต่อตาเท่านั้นเองครับ

มา…มาดูกันดีกว่าครับ ว่าทำไงให้มันแน่นหนาอย่างที่ควรจะเป็น เผื่อต้องการต่อให้มันชนฝ้าเพดาน จะได้ไม่ต้องมาห่วงว่ามันจะล้มมาทับ หรือพังครืนลงมานะครับ

ขั้นตอนหลักๆ ก็คงเหมือนท่านอื่นๆ ที่เคยมาแสดงวิธีการนะครับ ก็คือ

ร่างแบบคร่าวๆ เพื่อกำหนดขนาดความยาวของเหล็กฉากแต่ละชิ้น เหล็กฉากมันยาวสามเมตรนะครับ กำหนดให้ลงตัวจะได้ไม่เสียเศษครับ

ได้ขนาดแต่ละชิ้นแล้วก็เอาไปซื้อที่ร้าน ให้ร้านตัดมาให้ตามขนาดที่ต้องการนะครับ

ซื้อสกรู และน๊อตติดมาตามจำนวนที่ต้องการใช้ ถ้านับตัวก็แพงหน่อย ถ้าซื้อเป็นถุง (ถุงละ 50 ตัว) ก็ถูกลงครับ

ซื้อแผ่นเหล็กประกับ หรือเหล็กฉากเข้ามุมมาด้วย เอามามากหน่อยครับ เหล็กอันนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของชั้นไม่ให้โยกเยกครับ บอกที่ร้านว่าขอซื้ออย่างหนา (ถ้ามี) นะครับ ไม่เอาอย่างบาง

แล้วก็ซื้อประแจเบอร์ 10 มาตัวนึง พร้อมกับยางรองขาเหล็กฉากกันไม่ให้มันขูดพื้นครับ เอาถุงมือผ้ามาด้วยซักคู่ก็ดีครับ จะได้ไม่เจ็บมือเวลาไขสกรูไปเยอะๆ และก็ช่วยป้องกันเผื่อพลาดไปโดนคมมุมเหล็กเข้าโดยไม่เจตนา จะได้ไม่เป็นแผลใหญ่นักครับ

มาดูรูปชั้นวางของที่ผมทำใช้ที่บ้านนะครับ หน้าตาอย่างนี้ครับ

ในรูปมันดูโค้งๆ เพราะกล้องถ่ายรูปตั้งเป็นมุมกว้างนะครับ ห้องมันแคบครับ พอเปิดออกมาก็เป็นอย่างนี้ครับ

ตอนซื้อเหล็กให้ซื้ออย่างหนาครับ (1.8mm) บอกที่ร้านว่าเอาเหล็กอย่างหนาเต็มนะครับ อันนี้ไม่ใช่แค่ว่ามันแข็งแรงกว่านะครับ แต่มุมและฉากมันจะเที่ยงตรงกว่าด้วยครับ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำไปวางของหนักๆ ก็สมควรใช้อย่างหนาครับ

ในรูปที่เห็น ยี่ห้อบนเป็นเหล็กบาง ส่วนยี่ห้อล่างเป็นเหล็กหนาครับ

อีกอย่างที่ผมสังเกตเห็นก็คือว่า สันของเหล็กฉากยี่ห้ออันบนผลิตมาไม่ดีครับ มันเป็นคมครับ เวลาใช้งานตอนเอาของเข้าออกแล้วพลาดไปโดน มันขูดโดนหนังผมถลอกไปหลายทีแล้วครับ แต่ยี่ห้ออันล่างนี่ไม่คมครับ

ได้ของครบแล้วก็วางแผนว่าจะประกอบอันไหนก่อนหลัง ถ้าชั้นขนาดเล็กนี่คงไม่มีปัญหาว่าจะประกอบชิ้นไหนก่อนหลัง แต่ถ้าชั้นที่ค่อนข้างสูง หรือประกอบในพื้นที่จำกัดนี่ต้องวางแผนหน่อยครับ ไม่งั้นทำงานลำบากครับ

แนะนำให้ประกอบเสาด้านซ้ายขวาสี่ต้น(สำหรับชั้นช่วงเดียว) กับตัวเหล็กขวางเฉพาะด้านในที่อยู่ติดผนัง กับเหล็กขวางด้านข้างก่อนครับ อย่างเส้นสีแดงในรูปนะครับ ส่วนเหล็กที่สีน้ำเงินไว้ทีหลังครับ

ส่วนจะใส่ตรงชั้นไหนก่อน แนะนำให้ใส่ตำแหน่งชั้นบนสุดกับล่างสุดก่อนครับ

คราวนี้ก็มาถึงความสำคัญของเหล็กเข้ามุม กับความหนาของเหล็กฉากที่เลือกใช้หละครับ ว่าชั้นประกอบเสร็จแล้วจะโยกเยกหรือไม่

ในการประกอบให้ใส่เหล็กประกับเข้ามุมตรงมุมที่อยู่บนสุด ล่างสุด ซ้ายสุด และขวาสุดของทุกๆ ด้านครับ การใส่เหล็กชิ้นนี้บางคนก็ประกบด้านนอกทั้งแผ่นเลย แต่ผมชอบที่จะสอดไว้ระหว่างชิ้นของเหล็กฉากอย่างในรูปครับ เหล็กจะได้ไม่งอ ดูสวยงามครับ

มีข้อที่ต้องคิดให้เรียบร้อยก่อนที่จะลงมือประกอบจริงอยู่สองสามเรื่องครับ

เรื่องแรกคือว่าเหล็กขวางนี่จะหันสันขึ้นหรือลง ถ้าหันขึ้นเวลาวางแผ่นไม้ชั้นเข้าไปจะวางยากหน่อย เพราะจะติดหัวสกรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแผ่นไม้ตัดมาค่อนข้างขนาดเป๊ะๆ และเป็นไม้ชิ้น งอไม่สะดวก บางทีอาจจะต้องวางแผ่นไม้ชั้นลงไปก่อนใส่สกรูครับ ซึ่งจะทำงานค่อนข้างลำบากครับ

ประโยชน์ของการหันสันขึ้นก็คือมันจะเป็นขอบกันของตกได้ครับ ถ้าวางของชิ้นเล็กๆ แล้วอาจจะกลิ้งตกลงมาได้ วางหันขึ้นอย่างนี้คงจะเหมาะครับ

แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกะกะถ้าของที่วางมีขนาดลึกกว่าความลึกของชั้น เช่นพวกกล่องใหญ่ๆ และถ้าเป็นเหล็กฉากที่สันเป็นคมอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้วหละก็ ตอนเผลอๆ คุณก็จะโดนไอ้สันคมๆ นั่นแหละขูดเอาอยู่เรื่อยๆ ครับ

ถ้าหันสันลง ก็กลับกับข้างบนครับ แล้วเหล็กฉากตัวขวางมันยังสามารถใช้ประโยชน์ในการห้อยแขวงอะไรกระจุกกระจิกได้ด้วยครับ แต่มันก็ไปทำให้เสียเนื้อที่ทางสูงของแต่ละชั้นไปนิดหน่อยด้วยครับ

เรื่องที่สองก็คือว่าเหล็กขวางตัวที่อยู่ซ้ายขวา กับตัวที่อยู่หน้าหลัง ตัวไหนควรอยู่ทับบนตัวไหน อันนี้ผมมักให้ตัวที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง อยู่ทับบนตัวซ้ายขวาครับ เพราะเวลาวางแผ่นไม้ชั้นแล้วมันเรียบเสมอกับเหล็ก ถ้ามันอยู่ล่าง แผ่นไม้ด้านซ้ายขวาจะเผยอขึ้นเล็กน้อยครับ ผมเป็นคนขี้รำคาญครับ

อีกเรื่องจะเป็นกรณีที่ต้องการต่อชั้นมากกว่าหนึ่งช่วง ปัญหาอยู่ตรงเสาที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองช่วงครับ ถ้าต่อชั้นสองช่วงโดยทำเป็นชั้นสองตัววางซ้ายขวาชนกัน อย่างนี้ทำงานง่ายครับ แต่เปลืองเหล็กเสากลางเพิ่มขึ้นครับ รวมถึงสกรูน๊อตอีกนิดหน่อยด้วยครับ แต่ก็ทำให้ประกอบได้สะดวก และถ้าจะโยกย้ายเคลื่อนไปไหนก็จัดการได้ง่ายกว่าครับ

แต่ถ้าจะประหยัดก็ใช้เสาต้นเดียวตรงกลาง อย่างชั้นที่ผมเอารูปมาลง อันนี้ประกอบยุ่งยากหน่อยครับ เดี๋ยวจะเอารูปเฉพาะตรงเสากลางมาให้ดูครับ มันถูกบานประตูบังอยู่ครับ

รูปนี้ครับ ถ่ายรูปมุมเฉียงมากไปหน่อยครับแต่ก็เห็นชัดเจนว่าใช้เหล็กประกับตัวนึงมาเสริมเพื่อรับเหล็กฉากตัวขวางครับ ผมจึงแนะนำให้ใช้เหล็กประกับอย่างหนาครับ หรือถ้าร้านที่ขายไม่มีอย่างหนา ก็ใช้อย่างบางมาซ้อนกันสองหรือสามแผ่นครับ แข็งแรงเหลือเฟือครับ

แต่การมีเสาเดียวนั้น จะต้องประกอบเหล็กขวางตัวที่อยู่ด้านข้างทั้งสองตัวไปพร้อมกันในคราวเดียว ก็ยุ่งยากนิดหน่อยครับ รูปไม่ค่อยชัดนะครับ

เอาหละครับ คิดออกกันรึยังครับว่าจะเอายังไง เสาเดียวสองเสา หันขึ้นหันลง ทับบนทับล่าง คิดออกแล้ว ของก็ซื้อมาพร้อมแล้ว คงอยากจะเริ่มลงมือประกอบแล้วใช่มั้ยครับ

แต่…เดี๋ยวก่อนครับ อย่างเพิ่งครับ มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาครับ ก็คือไอ้ตัวสกรูกับน๊อต แล้วก็ความหนาของเหล็กประกับ และเหล็กฉากที่ใช้นี่แหละครับ มันมีส่วนอย่างมากว่ามันจะทำให้ชั้นที่ประกอบขึ้นมานั้นแข็งแรงไม่โยกเยกคลอนแคลนเป็นกระท่อมพังๆ ได้ยังไงกัน เดี๋ยวมาดูกันครับ ตอนนี้ขอพักครึ่งเวลาก่อนครับ ผู้ชมทุกท่านจะอาบน้ำอาบท่า ทานข้าวปลาก็ตามสะดวกนะครับ อีกสองชั่วยามจะกลับมาเปิดโรงภาคสองครับ

มาต่อชั้นเหล็กฉากเองดีกว่า (2)

เหล็กฉากเจาะรูคืออะไร

          เหล็กฉากเจาะรู (Slotted Angle Steel) หรือ เหล็กฉากเอนกประสงค์ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนที่ผ่านการเจาะรูรูปวงรี (Slot) และวงกลมขนาดเล็กตลอดแนวความยาว แล้วผ่านการขึ้นรูปให้เป็นเหล็กฉาก 90 องศา จากนั้นจึงนำมาผ่านขบวนการอบเคลือบสี จุดประสงค์เพื่อให้สามารถนำเหล็กฉากเจาะรูนี้มาประยุกต์ใช้กับงานได้หลากหลายรูปแบบ หลายขนาด ตามความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้งาน เช่น ชั้นเหล็กฉาก ชั้นวางสินค้า ชั้นวางของ ชั้นเก็บอะไหล่ สต็อกสินค้า โต๊ะทำงาน work bench ที่ต้องการความแข็งแรง การใช้งานก็โดยการตัดเส้นเหล็กฉากให้ได้ตามแบบและขนาดที่ต้องการ นำมายึดติดกันด้วยสกรูและน็อต เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของจุดต่อด้วยแผ่นเหล็กสามเหลี่ยม นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวนเหล็กฉากเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นตามต้องการ

ข้อดีของเหล็กฉากเจาะรู

  • ประกอบง่าย ไม่ต้องเชื่อม ไม่ต้องเจาะรู แค่ตัดให้ได้ขนาดตามต้องการ แล้วยึดติดกันด้วยสกรูและน็อต
  • สะดวก รวดเร็วในการติดตั้งและรื้อถอน ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บและสะดวกในการเคลื่อนย้าย
  • สามารถดัดแปลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบสำหรับใช้งานต่างๆ ได้ตามต้องการ
  • รับน้ำหนักได้มาก มีขนาดความหนาของเหล็กฉากให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของการใช้งาน และยังสามารถเพิ่มจำนวนเหล็กฉากเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น
  • แข็งแรงทนทาน สีไม่หลุดร่อนง่าย มีอายุการใช้งานยาวนาน จีงทำให้ประหยัดต้นทุน